เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถนำอินซูลินที่ผลิตมาไปใช้ได้
ปกติอินซูลินจะช่วยเปลี่ยนน้ำตาลจากอาหารที่เราทาน ไปเก็บไว้เป็นพลังงาน ในเซลล์ต่างๆของร่างกาย หากร่างกายมีอินซูลินไม่พอ หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูง
หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้แก่ โรคไต, จอประสาทตาเสื่อม และโรคหลอดเลือดอื่นๆ
อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยอาจจะมาพบแพทย์ ด้วยอาการ ปัสสาวะบ่อย, กินน้ำบ่อย, กินอาหารจุและน้ำหนักลด ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ตรวจพบจาก การเจาะเลือดตรวจร่างกาย
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน โดยการตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด
การวินิจฉัยโรค
วินิจฉัยโดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
ในผู้ป่วยที่อดอาหารและตรวจพบระดับน้ำตาลที่สูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็นเวลา 2 ครั้ง
หรือเจาะน้ำตาลที่เวลาใดเวลาหนึ่งโดยไม่ต้องอดอาหาร สูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเป็นโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน
ชนิดของโรคเบาหวาน
เบาหวานชนิดที่ 1 มักเกิดตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ เป็นเพราะร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ จึงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยอินสุลินแบบฉีด
เบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานที่เราเจอ มักจะเป็นชนิดที่2 มักเจอในผู้ใหญ่ เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ปัจจุบันเราพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น เพราะมีประชากรสูงอายุมากขึ้น และมีจำนวนคนที่อ้วน และไม่ใคร่ได้ออกกำลังกายมากขึ้น
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะเบาหวานชนิดนี้ จะเกิดในผู้ที่ปกติแล้วระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ได้ป่วยเป็นเบาหวาน แต่จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงในระหว่างการตั้งครรภ์เท่านั้น
การรับประทานผักและผลไม้สด จะช่วยควบคุม
ระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยเบาหวาน
จุดประสงค์ของการรักษาโรคเบาหวาน ไม่เพียงแต่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเท่านั้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆด้วย
โดยการรักษาจะใช้ยา ซึ่งอาจจะเป็นยากิน และยาฉีด(อินซูลิน) ร่วมกัน
การปฎิบัติตัวให้ผู้ป่วยเบาหวาน อาหาร ควรทานผักให้มาก โดยเฉพาะผักประเภทใบ และถั่วสด เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ฯลฯ เลือกทานทานผลไม้ที่หวานน้อย เช่น ส้ม มะละกอ พุทรา ฝรั่ง งดของหวานทุกชนิด และขนมที่ใส่น้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารทอดที่มีน้ำมันมาก
การออกกำลังกาย จะช่วยควบคุมน้ำหนัก, ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้การออกกำลังกาย ก็ช่วยทำให้จิตใจเบิกบานสดชื่นได้อีกด้วย
งดสูบบุหรี่ ปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวาน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่นโรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคไตวายเรื้อรัง โรคทางระบบประสาท ฯลฯ มากกว่าคนปกติ การสูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น